Custom Search

การประเมินผลพนักงาน

ไม่ว่าธุรกิจใด กิจการใด อาชีพใด หากไม่ได้มีเพียงเจ้าของกิจการเพียงคนเดียว สิ่งที่ต้องตามมาก็คืองานบริหารงานบุคคล กิจการเล็ก กิจการใหญ่ ต่างก็มีรูปแบบการบริหารจัดการที่แตกต่างกันไป แต่เป้าหมายหลักของการบริหารงานบุคคลนั้นไม่ว่ากิจการจะเล็กหรือใหญ่ต่างก็มีวัตุประสงค์ไม่ต่างกันมากนัก มุ่งหวังให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มกับค่าจ้างที่กิจการได้จ่ายให้ ให้พนักงานที่ขยันขันแข็งรู้สึกว่าการกระทำเช่นนั้นไม่สูญเปล่า มีคนมองเห็น ในขณะเดียวกันก็ให้พนักงานที่เกียจคร้าน เฉือยชากับการทำงาน ได้รับบทลงโทษที่สมน้ำสมเนื้อกัน เอาเป็นว่า "คนดีได้รับการยกย่อง คนที่ไม่ดีได้รับการตำหนิติเตียนและลงโทษ"

การประเมินผลงานของพนักงานนั้นก็มีด้วยกันหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับประเภทของกิจการ ประเภทของงานที่ทำ แต่การประเมินผลที่ดีนั้นต้องมีความยุติธรรมให้มากที่สุด

สำหรับรูปแบบที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นเพียงอีกแนวทางหนึ่งซึ่งหลายท่านอาจนำไปปรับปรุงใช้ในกิจการของตนเองได้

การประเมินแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.ส่วนของพนักงานประเมินตนเองและเพื่อนร่วมงาน
2.ส่วนของทางร้านประเมินจากการมาทำงานของพนักงานแต่ละคน

ส่วนของพนักงานประเมินตนเองและเพื่อนร่วมงาน
ตั้งหัวข้อในการประเมินตามรูปแบบของการทำงาน โดยกำหนดให้มีการให้คะแนนตั้งแต่ 0-5 คะแนน โดยให้ 5 คือมากที่สุด และ 0 คือไม่มีเลย พนักงานแต่ละคนจะได้รับแบบฟอร์มการประเมินคนละ 1 ชุด เพื่อประเมินตนเองและเพื่อนร่วมงาน โดยไม่ต้องระบุชื่อของผู้ประเมิน เสร็จแล้วนำไปหย่อนลงในกล่องรับใบประเมิน เพื่อนำไปรวมผลคะแนนต่อไป

ตัวอย่างหัวข้อที่ใช้ในการประเมิน มีดังต่อไปนี้
- ความซื่อสัตย์สุจริตต่อทรัพย์สินของลูกค้า
- การให้ความสำคัญ ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามกฏระเบียบของทางร้านอย่างเคร่งครัด มีวินัยในการทำงาน
- ความตรงต่อเวลา และการรู้จักเคารพเวลางานโดยไม่ใช้เวลางานไปจัดการธุระส่วนตัว
- ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ประจำที่ได้รับมอบหมาย เช่น จัดเตรียมน้ำยาและอุปกรณ์ เทขยะ ซักผ้า เป็นต้น
- ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในแต่ละวัน เช่น ดูดฝุ่น ล้างรถ ทายาง เป็นต้น
- ความตั้งใจ ความเต็มใจ ความเอาใจใส่ และความละเอียดรอบคอบในการทำงาน
- ความสะอาด ความรวดเร็ว และความเป็นระเบียบเรียบร้อยในงานที่ทำ
- ความกระตือรือร้นในการทำงาน ไม่เลี่ยง ไม่เกี่ยง ไม่หลบ ไม่แกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ไม่อู้ ไม่กินแรงเพื่อน
- การเรียนรู้งาน และการปรับปรุงแก้ไขส่วนที่ผิดพลาด พัฒนาการทำงาน ให้ดียิ่งๆขึ้น
- ความมีมนุษยสัมพันธ์อันดี ความมีน้ำใจ ไม่เอาเปรียบ และการให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน
- การสร้างความสามัคคีในทีมงาน ไม่ข่มเหง ข่มขู่ กดดัน หรือแบ่งพรรคแบ่งพวก
- มารยาท การพูดจา การมีสัมมาคารวะ และการแสดงออกต่างๆกับลูกค้า ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
- ความเข้าใจในบริการต่างๆของทางร้าน และรู้จักนำเสนอบริการเหล่านั้นต่อลูกค้า
- การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆอย่างทะนุถนอมและคุ้มค่า รู้จักดูแลรักษาและจัดเก็บให้เป็นระเบียบ
- ความรู้สึกอันดีที่มีต่อร้านและงานที่ทำ

ผลการประเมินที่ออกมาจะสะท้อนภาพของพนักงานแต่ละคนออกมาให้เจ้าของกิจการได้เห็น ถึงแม้พนักงานอาจจะร่วมมือกันในการให้คะแนนแต่อย่างไรก็ยังจะมีส่วนที่เป็นจริงอยู่บ้าง เช่น พนักงานที่กินแรงเพื่อน ยังไงเพื่อนร่วมงานก็ไม่มีทางให้คะแนนสูงได้ เจ้าของกิจการก็จะได้รู้ว่าพนักงานคนไหนที่ทำงานเอาเปรียบคนอื่น เป็นต้น

การประเมินในส่วนนี้ ขอย้ำว่าเจ้าของกิจการไม่ควรจะมีส่วนร่วมในการให้คะแนนเพราะตัวเลขระหว่าง 0-5 นั้นอาจมีความลำเอียงเข้าไปเจือปนอยู่ ไม่มีหลักฐานการยืนยันตัวเลขคะแนนที่ชัดเจน ทำให้พนักงานรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม เจ้านายรักคนนั้น เกลียดคนนี้ ผลการประเมินอาจไม่เป็นที่ยอมรับของพนักงาน

ส่วนของทางร้านประเมินจากการมาทำงานของพนักงานแต่ละคน
การประเมินผลในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของเจ้าของกิจการ เป็นการประเมินที่มีหลักฐานยืนยันคะแนนอย่างชัดเจน พนักงานไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่ามีความลำเอียงเกิดขึ้น เพราะการมาทำงานมีสมุดลงเวลาหรือบัตรตอกลงเวลาเป็นหลักฐาน และการลาก็มีใบลาเป็นหลักฐาน

การกำหนดคะแนนในส่วนนี้อาจกำหนดได้ ดังต่อไปนี้
- มาทำงานเต็มวันครบทุกวัน ไม่ขาด ไม่ลา ได้คะแนนพิเศษเพิ่ม 10 คะแนน
- มาทำงานไม่สายกว่า 8.00 น. ทุกวัน ได้คะแนนพิเศษเพิ่ม 10 คะแนน
- ขาดงาน หักคะแนนวันละ 10 คะแนน
- ลางานทุกประเภท หักคะแนนวันละ 5 คะแนน
- มาทำงานไม่เต็มวัน หักวันละ 3 คะแนน
- มาทำงานสายกว่า 8.00 น. หักคะแนนวันละ 2 คะแนน

การสรุปผลการประเมิน
1.นำคะแนนจากแบบฟอร์มที่พนักงานแต่ละคนหย่อนลงในกล่องรับใบประเมินผลมาใส่ลงในส่วนที่หนึ่งของแบบฟอร์มการประเมินผลพนักงานรายบุคคล โดยแสดงรายละเอียดหัวข้อการประเมิน ช่องผลคะแนนตามจำนวนพนักงานทั้งหมดโดยไม่ต้องระบุชื่อ รวมคะแนนที่ได้ทั้งหมดแล้วหารด้วยจำนวนพนักงานทั้งหมด ออกมาเป็นคะแนนเฉลี่ย
2.นำคะแนนเกี่ยวกับการมาทำงานของพนักงานซึ่งทางร้านเป็นผู้ประเมินจากหลักฐานการมาทำงานของพนักงานแต่ละคนมาลงในส่วนที่สองของแบบฟอร์มการประเมินผลพนักงานรายบุคคล
3.บวกและหักคะแนนทั้งสองส่วนจะได้คะแนนประเมินผลสุทธิ
4.เพิ่มเติมส่วนสุดท้ายของแบบฟอร์มประเมินผลพนักงานรายบุคคลด้วยข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ไว้สำหรับเขียนคำติชมและคำแนะนำพนักงาน
5.จัดเรียงคะแนนตามลำดับ พนักงานที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้เป็น "พนักงานดีเด่นประจำเดือน" ซึ่งกิจการอาจกำหนดเงินเพิ่มพิเศษให้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงาน

หลักเกณฑ์พิเศษเพิ่มเติม
- มีการกำหนดระดับคะแนนขั้นต่ำสำหรับพนักงานที่จะได้รับเลือกเป็นพนักงานดีเด่นประจำเดือน เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานที่ไม่มีคุณภาพพอเป็นพนักงานดีเด่นได้
- มีการกำหนดระดับคะแนนมาตรฐาน ถ้าพนักงานคนใดมีคะแนนการประเมินโดยรวมต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ จะต้องถูกลดขั้นเงินเดือน เช่น ลดลงวันละ 5 บาท แต่ถ้าเดือนถัดไปสูงกว่าเกณฑ์ก็มีสิทธิกลับมารับเงินเดือนในอัตราเดิมได้ เป็นต้น
- พนักงานคนที่ได้รับคะแนนผลการประเมินต่ำที่สุดติดต่อกันสองเดือน จะต้องถูกลดขั้นเงินเดือน เช่น ลดลงวันละ 5 บาท แต่ถ้าเดือนถัดไปยกระดับตนเองขึ้นมาได้ก็มีสิทธิกลับมารับอัตราเงินเดือนเท่าเดิมได้ เป็นต้น
- แบบฟอร์มประเมินผลพนักงานรายบุคคล ให้จัดทำ 2 ชุด โดยชุดหนึ่งมอบให้กับพนักงานเอาไว้ศึกษาพิจารณาผลของคะแนนของตนในแต่ละข้อ เพื่อที่จะได้รู้จุดเด่นจุดด้อยของตนเอง ส่วนอีกชุดนั้นทางร้านเก็บเข้าแฟ้มไว้รวมกับใบประเมินที่พนักงานแต่ละคนประเมิน(หากมีพนักงานคนใดสงสัยสามารถขอตรวจสอบดูได้) เพื่อใช้เปรียบเทียบพัฒนาการของตัวพนักงานแต่ละคน
- ติดประกาศผลคะแนนรวมโดยแยกคะแนนออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่พนักงานประเมิน และส่วนที่ทางร้านประเมิน ในบอร์ดข่าวสารพนักงาน เพื่อให้พนักงานทราบว่าเพื่อนร่วมงานแต่ละคนได้คะแนนแตกต่างกันเท่าไร พร้อมทั้งจัดทำบอร์ดพนักงานดีเด่นประจำเดือนในจุดที่ลูกค้าสามารถมองเห็นได้ ให้พนักงานดีเด่นรู้สึกภูมิใจ

การประเมินผลพนักงานในลักษณะนี้จะทำให้พนักงานที่มีศักยภาพในการทำงานต่ำ พยายามพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น พนักงานที่มาสายบ่อย ลา หรือขาดงานบ่อย ปรับปรุงตัวเองให้มาทำงานตรงต่อเวลา ลา หรือขาดงานลดลง และเป็นรูปแบบการประเมินที่พนักงานไม่สามารถหาเหตุผลใดมาเถียงผลการประเมินได้

ไม่มีความคิดเห็น: